GRC มีความสำคัญต่อองค์กรของคุณอย่างไร

GRC: Governance Risk and Compliance

บทความ What GRC Could Mean to Your Organization จากนิตยสาร Tone at the TOP ฉบับเดือนสิงหาคม 2010 ผมแปลและเรียบเรียงลงไว้ในวารสารสมาคมผู้ตรวจสอบภายในเมื่อปี 2010 ครับ และที่สำคัญ ปัจจุบันปี 2016 ตัวอักษรที่สำคัญสามตัวอย่าง “GRC” ยังมีความสำคัญต่องานตรวจสอบภายในอย่างยิ่งยวด สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน ลองอ่านบทความนี้ดู น่าจะได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ GRC มากขึ้น

หากคุณเป็นคนที่ติดตามอ่านข่าวสารธุรกิจทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ และบล็อก (Blog) ต่างๆ อยู่เป็นประจำแล้ว โอกาสที่คุณจะพบตัวอักษรสามตัว คือ “GRC” นั้นมีบ่อยครั้งมากขึ้น

แนวคิดเรื่อง GRC Governance Risk และ Compliance นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ GRC ไม่ได้เป็นเพียงตัวอักษรสามตัวที่เรียงอยู่ติดกัน แต่อักษรสามตัวดังกล่าว เป็นสัญญลักษณ์ของแนวคิดที่สำคัญทางธุรกิจ ที่ควรอยู่ในใจของผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กรที่ต้องรับผิดชอบในการขับเคลื่อนองค์กรที่นับวันยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น

GRC คืออะไร?

ตามที่ Open Compliance and Ethics Group (OCEG) ได้ระบุความหมายของ GRC ว่าเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับคน (people) กระบวนการ (processes) และเทคโนโลยี (technology) ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้

  • มีความเข้าใจและจัดลำดับความสำคัญต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders)
  • กำหนดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
  • บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนด และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังความเสี่ยง (Risk Profile) และปกป้องคุณค่าขององค์กร (Value)
  • ดำเนินการภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย สัญญา ระบบภายใน สังคม และจริยธรรม
  • ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เชื่อถือได้ และทันเวลา ต่อผู้มีส่วนได้เสีย
  • ส่งเสริมการวัดผลของระบบการดำเนินงานและการมีประสิทธิผล

คาร์โรล์ สวิตเซอร์ ประธาน OCEG เชื่อว่าแนวคิด GRC มีศักยภาพที่จะจัดให้องค์กรมีข้อมูลที่นำมาใช้ในการจัดการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ลดความซับซ้อนและความไม่สม่ำเสมอในการดำเนินงาน และควบคุมประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมที่สุด

“ทุกวันนี้ ผู้บริหารและฝ่ายจัดการระดับสูงต่างตระหนักถึงความต้องการความรู้ในวิธีการจัดการเชิงบูรณาการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กรมากขึ้น” สวิตเซอร์ กล่าวว่า “เมื่อดำเนินการได้อย่างเหมาะสมแล้ว GRC นี่แหละเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด” และเธอยังกล่าวต่ออีกว่า GRC เป็นตัวผลักดันให้เกิดการตัดสินใจในเรื่องความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด เพิ่มความคล่องตัวขององค์กร และลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบงาน “เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์เหล่านี้ แล้วทำไมจะไม่นำแนวคิดนี้มาใช้หล่ะ” เธอกล่าวถาม

GRC กับ ERM ความแตกต่างอยู่ที่ตรงไหน?

แหล่งข้อมูล: Treasury & Risk, June 2007 กล่าวว่า ทั้ง Governance Risk and Compliance (GRC) และ Enterprise Risk Management (ERM) ต่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าองค์กรสามารถระบุความเสี่ยงทั้งหมดที่องค์กรเผชิญอยู่ (Identified) รวมทั้งการ วิเคราะห์ (Analyzed)และบอกจำนวน (Quantified)ได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวคิดนี้มีความแตกต่างที่สำคัญ

ERM เป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร โดยมีการวัด และกำหนดลักษณะของความเสี่ยง รวมทั้งการกำหนดให้แต่ละส่วนงานเป็นเจ้าของความเสี่ยง (Risk Ownership) ในหน่วยงานของตนเอง

GRC มีกรอบโครงสร้างที่กว้างกว่า ซึ่งครอบคลุมถึงขอบข่ายของงาน และปรัชญาในการสื่อสาร ทั้งการกำกับดูแล และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการรายงานผล ซึ่งใช้เครื่องมือต่างในการควบคุมและจัดการสิ่งต่างๆ เช่น นโยบาย (Policies) ขั้นตอนการทำงาน (Procedures) เอกสารที่ต้องการ (Documentation Requirement) และการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessments) โดยแก่นแท้แล้ว GRC ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของ ERM

ประโยชน์ของ GRC คืออะไร?

ในขณะที่องค์กรมีการเติบโตและมีพัฒนาการมากขึ้น บ่อยครั้งที่การพัฒนากระบวนการทำงานใหม่บนวิธีการเดิม โดยไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดของการทำงานอีกครั้งว่าเป็นการทำงานที่เหมาะสม ซ้ำซ้อน หรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ หน้าที่การทำงานในหลายเรื่องส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองเพียงแต่ประเด็นปัญหาที่เข้ามา มากกว่าเป็นการแสวงหาวิธีการจัดการในเชิงรุก

อย่างไรก็ตาม “GRC” เป็นแนวคิดในเรื่องการจัดการแบบบูรณาการ (Integrated) ผสมผสานการจัดการเชิงรุกที่ใช้ประโยชน์เต็มที่จากโอกาส และทรัพยากรที่มีอยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อนำ GRC มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผลแล้ว  GRC จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าระบบการควบคุมมีความเหมาะสม การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล มีการระบุความเสี่ยง และใช้ทรัพยากรในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ประโยชน์ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ GRC สามารถช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นแก่คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงว่าระบบทั้งหมดในด้านการกำกับดูแล (Governance) ความเสี่ยง (Risk) และการปฏิบัติงานตามระเบียบ (Compliance) เป็นการปฎิบัติงานที่มีประสิทธิผล และมีคุณภาพสูง

จากคำกล่าวของสวิตเซอร์ GRC คือ วิธีการคิดและการปฏิบัติที่ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายในองค์กร

“เหตุผลที่ฉันหลงใหลใน GRC ก็คือ มันสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการทำธุรกิจได้จริง” เธอกล่าวต่อว่า “…แนวทางที่เราเข้าใจและระบุความเสี่ยงได้ รวมถึงบรรลุหลักการกำกับที่ดีและมีคุณภาพทั้งในองค์กรขนาดใหญ่ และองค์กรขนาดเล็ก” สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบูรณาการ (Integrated) สร้างระบบที่ก่อให้เกิดความกลมกลืนระหว่างคน กระบวนการ และเทคโนโลยี ซึ่งระบบดังกล่าว ไม่เพียงแต่ใช้งานในสถานการณ์ปกติที่ไร้อุปสรรค แต่ยังมีความยืดหยุ่น ความรวดเร็ว และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ด้วยรูปแบบที่มีการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของ GRC ยังรวมถึงการสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ปรับปรุงการตอบสนองและความพร้อมขององค์กรในการระบุความเสี่ยง และการลื่นไหลของข้อมูลอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งองค์กร

การปฏิบัติ GRC ที่ดีที่สุด

รางวัล GRC Achievement Award จัดขึ้นโดย OCEG เพื่อมอบรางวัลเกียรติยศให้กับองค์กรที่เป็นแบบอย่างในการบูรณาการธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ และเมื่อเร็ว ๆ นี้รางวัลเกียรติยศประจำปี 2010 ได้มอบให้แก่ 6 บริษัทชั้นนำของโลก ได้แก่

  1. Best Buy
    Best Buy ใช้สื่อสังคม (Social Media) ในการกระตุ้นให้เกิดประเด็นการสนทนาทางจริยธรรม โดยการใช้บล็อกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับจริยธรรมเป็นสื่อกลางจนกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ และลูกค้า
  2. Capital One
    การนำหลักการง่ายๆ และกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างที่มาตรฐานมาปรับปรุงระบบการควบคุมภายใน และเพิ่มระดับความสบายใจ (Comfort) และความเชื่อมั่นในการทำงาน (Assurance)
  3. Carnival
    แม้ Carnival จะเป็นองค์กรที่มีอยู่ทั่วโลกที่ใช้การบริหารงานแบบกระจายอำนาจ บริษัทประสบความสำเร็จในการบูรณาการ (Integrated) GRC ซึ่งเป็นผลให้เกิดความสมดุลในโครงสร้างองค์กร และเสริมสร้างการควบคุมภายใน
  4. DIRECTV
    หลังจากที่ได้มีการระบุความเสี่ยงตามลักษณะธุรกิจ (Inherent Risks) และความท้าทายในการจัดการข้อมูลบน Spreadsheet นั้น DIRECTV ได้ใช้วิธีการนี้ขยายผลไปทั่วทั้งองค์กร โดยออกแบบการใช้งานให้เป็นมาตรฐาน มีการดูแลรักษา และแบ่งปันข้อมูลระหว่างฝ่ายต่างๆ ในองค์กร
  5. Tawuniya
    การเชื่อมโยงแนวคิดแบบ GRC กับผลการทำงานของฝ่ายจัดการ บริษัทตัวแทนประกันภัยชั้นนำจากซาอุดีอาระเบียบริษัทนี้ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผล
  6. VISA
    รวบรวมความต้องการที่มีมากกว่า 3,400 ความคิดเห็น มาเป็นข้อมูลใช้ในระบบเพื่อการสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญที่มีความน่าสนใจ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่น บริษัทVISA ได้ดำเนินการบริหารความเสี่ยงในแบบองค์รวมทั่วทั้งองค์กร
GRC: Governance Risk and Compliance
GRC: Governance Risk and Compliance

บทบาทของงานตรวจสอบภายใน

ผู้ตรวจสอบภายในมีบทบาทสำคัญในการเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่องค์กรเรื่องแนวทางการบริหารเชิงรุกที่ผสมผสานการกำกับดูแล ความเสี่ยง และการปฏิบัติตามระเบียบ แก่ผู้บริหารระดับสูงมากกว่าที่จะมองในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงแบบเดิมๆ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีหน้าที่ใดในหน่วยงานของบริษัทที่เหมาะสมในการประเมินประสิทธิผลของการดำเนินงาน GRC ได้ดีเท่ากับงานตรวจสอบภายใน

เมื่อคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจที่จะนำแนวคิด GRC มาปรับใช้กับองค์กร การวัดผลเกี่ยวกับประสิทธิผลในการดำเนินการนั้น จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ ผู้ตรวจสอบภายในที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานนั้น มีการวางระบบ ที่มีความโปร่งใส และมีแบบแผน สำหรับใช้ในการตัดสินใจซึ่งได้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

“คณะกรรมการของบริษัทไม่สามารถที่จะทำหน้าที่เพียงแต่มอบอำนาจให้ฝ่ายจัดการในการวางแผนกลยุทธ์ และการตัดสินใจว่าองค์กรจะดำเนินการไปในทิศทางไหน” สวิตเซอร์กล่าวต่อว่า “จะให้หลับหูหลับตาตัดสินใจ หรืออนุมัติอะไรจากการฟังรายงานเท่านั้นไม่ได้” เธอกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการในปัจจุบันที่จะต้องกำหนดขอบเขตหรือกรอบในการทำงานของแต่ละหน้าที่ในองค์กร “สำหรับการกำกับดูแลอย่างแท้จริงนั้น พวกเขาควรจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และให้ความเชื่อมั่นว่าระบบ GRC สามารถวัดผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน” เธอกล่าวเสริมว่า “การมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมของผู้ตรวจสอบภายใน จะช่วยให้คณะกรรมการมั่นใจได้ว่าพวกเขาได้ทราบถึงสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการกำกับดูแลอย่างแท้จริง”

แน่นอนว่า ไม่มีวิธีการใดที่จะให้ความเชื่อมั่นต่อการกำกับดูแลว่ามีประสิทธิผล100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ ให้ความเสี่ยงในแต่ละส่วนงานลดลง และมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม แนวคิด GRC ให้แนวคิดอย่างเป็นระบบในการระบุความเสี่ยงและปัญหาในการปฏิบัติงาน

ตามที่สวิตเซอร์กล่าวข้างต้นนั้น แนวคิด GRC กำหนดระดับในการดำเนินการที่สามารถปฎิบัติงานได้ซ้ำเหมือนเดิม มีการจัดระบบเอกสาร มีความสม่ำเสมอ และความสอดคล้องกลมกลืนกับกระบวนการทำงาน “ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่า จะต้องลดความเสี่ยงให้หมดในทุกส่วนงาน แต่ต้องระบุให้ได้ก่อนว่าความเสี่ยงนั้นคืออะไร และมีความเข้าใจวิธีการจัดการภายใต้สถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันนั้นอย่างไร” เธอกล่าวว่า “มันเกี่ยวกับการสร้างระบบควบคุมที่สำคัญบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากความเสี่ยงอย่างแท้จริง ไม่ใช่การคาดเดา และการใส่แนวคิดลงในกระบวนการให้กลมกลืนกับระบบการปฏิบัติงาน จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการมากกว่าที่จะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ”

การนำแนวคิด GRC มาปรัปใช้นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกกระบวนการทำงานและเทคโนโลยีเดิมที่ใช้อยู่ และเริ่มต้นใหม่ หรือการทุ่มใช้งบประมาณมากมายในการสร้างขั้นตอนการทำงานซับซ้อน ทุกองค์กรควรประเมินระดับขั้นการทำงานในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาจุดสำคัญที่ต้องการจะทำให้ประสบผลสำเร็จโดยการจัดลำดับความสำคัญของงานในการปรับปรุง

ในปัจจุบัน คณะกรรมการบริษัท โดยเฉพาะบริษัทมหาชนที่มีกิจการทั่วโลก จะอยู่ภายใต้การพิเคราะห์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่การได้รับมอบหมายให้กำหนดกลยุทธ์ในการกำกับดูแลและตัดสินใจในนามของผู้มีส่วนได้เสีย แต่การตัดสินใจดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เพราะในบางกรณี การตัดสินใจของพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของตลาดเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางกายภาพ หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท คือทำให้แน่ใจว่า พวกเขามีความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่เกิดขื้นที่มีความสำคัญร้ายแรง และที่ก่อให้เกิดความกังวลใจ

ในกรณีที่ไม่มีการบูรณาการ (Integrated) ระบบ GRC ใช้ในการปฎิบัติงาน ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้มีความชัดเจนถูกต้องแม่นยำของข้อมูล และเป็นฐานในการตัดสินใจเรื่องความเสี่ยงได้อย่างชาญฉลาด คณะกรรมการบริษัทอาจมีข้อจำกัดในการตัดสินใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีที่มีการพัฒนาระบบ GRC ให้มีความสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งเป็นการบูรณาการ (Integrated) ของระบบงาน การจัดการความเสี่ยงให้มีความสมดุล และมีกระบวนการปฏิบัติงานที่มีความสอดคล้องและโปร่งใสทั่วทั้งองค์กรนั้น ดังนั้นการพัฒนาจึงจะต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอันดับแรก

++++++++++++++++++++++++++++

ผู้แปลและเรียบเรียง ศรรณ ทองประเสริฐ, CIA
บทความต้นฉบับ What GRC Could Mean to Your Organization
นิตยสาร Tone at the TOP ฉบับเดือนสิงหาคม 2010

 สนใจบริการงานตรวจสอบภายใน ติดต่อ e-mail: info@risklesssolutions.com

(Visited 16,008 times, 4 visits today)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.